อาหาร สินค้า และผลิตภัณฑ์พิเศษพื้นเมืองเบตง ของ อำเภอเบตง

ซิงซิงชาสมุนไพรเห็ดหลินจือ ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ 100% ไม่ผสมใบชา ได้รับมาตรฐาน อย. 95-2-00156-2-0001เคาหยกปลาจีนนึ่งบ๊วยไก่สับเบตงผัดผักน้ำกบภูเขาทอดหมี่เบตง
  • ซินซิงชาสมุนไพรเห็ดหลินจือ (ของฝากพิเศษเมืองเบตง)

ซินซิงชาสมุนไพรเห็ดหลินจือ ผลิตจากสมุนไพร เห็ดหลินจือไผ่เบตง ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือก คัดสรร และกระบวนการผลิตอย่างพิถีพิถัน ไม่มีส่วนผสมของใบชา ไม่แต่งสีและกลิ่น โดยเห็ดหลินจือไผ่ จะมีรสชาติไม่ขมเหมือนเห็ดหลินจือทั่วไป มีแหล่งที่กำเนิดตามกอไผ่ ลักษณะคล้ายเห็ดหลินจือทั่วไปแต่มีก้านยาว พบมากตามกอไผ่ในป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงรอบๆเมืองเบตง ที่สำคัญเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของเมืองเบตงที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

  • เคาหยก

เคาหยก เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของเบตง ทำจากเนื้อหมูกับเผือก มีวิธีการปรุงที่พิถีพิถันสลับซับซ้อน โดยจะเริ่มจากการนำเนื้อหมู 3 ชั้นมาต้มให้สุก จากนั้นจึงนำขึ้นมาสะเด็ดน้ำในรังนึ่ง และใช้ช้อนส้อมจิ้มที่หนังหมูเพื่อให้น้ำมันไหลออกมา ทิ้งไว้สักพัก แล้วนำเกลือมาคลุกให้ทั่ว หลังจากนั้นนำไปทอดในน้ำมันที่เดือดปานกลาง จนสังเกตว่าหนังหมูเริ่มพอง แล้วจึงนำขึ้นมาสะเด็ดน้ำมัน และต่อด้วยการต้มอีกครั้ง เมื่อนำขึ้นจากหม้อต้มให้นำมาผ่านความเย็นทันที เพื่อเพิ่มความกรอบ จากนั้นนำมาหันเป็นชิ้นเล็ก ๆ หมักกับเครื่องยาจีน เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้ร่างกาย แล้วนำมาจัดวางสลับกับเผือกทอด แต่ก่อนที่จะรับประทานต้องนำไปนึ่งอีกครั้ง แล้วจีงโรยหน้าด้วยผักชี เพื่อดับกลิ่นคาว[19]

  • ปลาจีนนึ่งบ๊วย

ปลาจีน นำมาปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้มปลาจีน ปลาจีนทอดกรอบ ปลาจีนนึ่งบ๊วย ฯลฯ ผู้ที่ได้รับประทานปลาจีนจะติดใจในรสหวาน และความนุ่มอร่อยของเนื้อปลาจีน โดยเฉพาะปลาจีนนึ่งเป็นอาหารชั้นหนึ่งจองภัตตาคารใหญ่ ๆ ในอำเภอเบตง ปลาจีนเป็นชื่อที่ใช้เรียกปลา 3 ชนิด คือชนิดแรก ปลาเฉาฮื้อ หรือปลากินหญ้า (Grass carp) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ctenopharyngodon idellus ชนิดที่สอง ปลาลิ่น หรือปลาลิ่นฮื้อ หรือปลาเกล็ดเงิน (Silver carp) หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hypophthalmichtys Molitrix ชนิดที่สาม ปลาซ่งฮื้อ หรือ ปลาหัวโต (Bighead carp) ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Aristichthys hobillis ปลาจีนมีลักษณะคล้ายปลากระบอกแต่มีขนาดโตกว่า เหตุที่เรียกว่าปลาจีนเพราะเป็นปลามาจากประเทศจีน ซึ่งส่งมาขายในมาเลเซีย ภายหลังชาวเบตงได้ซื้อลูกปลาจากแหล่งขายพันธุ์ปลาบริเวณชายแดน และนำมาเลี้ยงจนแพร่หลายในที่สุด[20]

  • ไก่สับเบตง

ไก่สับเบตง เป็นอาหารที่เลิศรสและขึ้นชื่อของเบตง เป็นเมนูเด็ดที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด และนอกจากไก่สับแล้ว ไก่เบตงยังสามารถปรุงเป็นอาหารรสเลิศได้อีกหลายชนิด เช่น ไก่ตุ๋นเครื่องยาจีน ไก่ตุ๋นมะนาวดอง ต้มยำไก่ ไก่ต้มซีอิ๊ว โดยไก่เบตงเป็นไก่ที่เลี้ยงเฉพาะท้องถิ่นเบตง เนื้อจะหวานนุ่ม ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนไก่ทั่วไป เดิมเป็นไก่พันธุ์เลียงชาน ที่ชาวจีนอพยพซึ่งมาตั้งรกรากในเบตงได้นำมาเลี้ยง และผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมือง จนแพร่หลายถึงทุกวันนี้ ลักษณะเด่นของไก่เบตง คือตัวผู้มีปากสีเหลืองอ่อน ส่วนตัวเมียปากสีน้ำตาลเข้ม ตานูน แจ่มใส หงอนจักร หัวกว้าง คอตั้ง แข็งแรง มีขนสีเหลืองทองที่หัว ปีกสั้น อกกว้าง ขาใหญ่ หน้าแข้งกลม และมีเล็บสีเทาอมเหลือง และด้วยการเป็นไก่ซึ่งเปรียบเป็นเอกลักษณ์ของเมืองเบตง ส่งผลให้เทศบาลเมืองเบตงได้มีการจัดงานเทศกาลไก่เบตงขึ้นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์การเลี้ยงไก่สายพันธุ์นี้ให้คงอยู่คู่เบตงสืบไป[21]

  • ผัดผักน้ำ

ผัดผักน้ำ มีลักษณะคล้ายผักชีล้อม มีการเจริญเติบโตคล้ายผักบุ้ง ใบเล็ก ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ ชอบขึ้นในที่ที่มีอากาศเย็น มีการเจริญเติบโตได้ดีในหน้าฝน และหน้าหนาว หรือที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา และต้องเป็นน้ำที่ไหลมาจากภูเขา โดยเฉพาะน้ำที่ไหลมาจากซอกหิน ชาวเบตงนิยมนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง เช่น ผัดผักน้ำ ทำแกงจืด ต้มจิ้มกับน้ำพริก ต้มกับกระดูกหมู เป็นต้น นอกจากรสชาติที่อร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในอีกด้วย[22]

  • กบภูเขา

กบภูเขาเบตง เป็นกบที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ในป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีขนาดใหญ่กว่ากบทั่วไป ขนาดของน้ำหนักอยู่ที่ 0.5-1.0 กิโลกรัมต่อตัว ชาวเบตงนิยมนำกบเบตงมาผัด หรือทอดกระเทียมพริกไทย หรืออาจจะใช้เนื้อกบแทนเนื้อหมูใส่ในโจ๊ก หรือที่เรียกว่าโจ๊กกบ ส่วนรสชาตินั้น บอกได้คำเดียวว่า ถ้าท่านได้ลิ้มลองจะต้องติดใจ[23]

  • หมี่เบตงและซีอิ๊วเบตง

หมี่เบตงเป็นอาหารขึ้นชื่อของเบตง มีคุณสมบัติพิเศษคือ เส้นเหนียวนุ่ม เมื่อนำไปผัดเส้นจะไม่ขาด ทำให้ผู้ที่ได้รับประทานติดใจในความเหนียวนุ่มของเส้นหมี่ หมี่เบตงมี 2 ชนิด คือ หมี่สีเหลืองเหมือนหมี่ทั่วไป ที่จะต้องนำไปนึ่งให้สุกแล้วนำมาจับเป็นก้อน เอาไปผึ่งแดดแล้วบรรจุลงถุง ส่วนมี่สั้วนั้นมีเส้นสีขาว ซึ่งต่างกันที่มี่สั้วนั้นไม่ต้องนึ่ง แต่นำไปตากแดดแทน ส่วนซีอิ๊วเบตง ซีอิ๊วที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครนั้น ก็มีกรรมวิธีในการทำสลับซับซ้อน และใช้เวลานานทีเดียว โดยกว่าจะได้ซีอิ๊วน้ำหนึ่งก็ต้องหมักประมาณ 3 เดือน และถ้าต้องการซีอิ๊วน้ำสองก็ต้องใส่น้ำเกลือหมักต่ออีกอย่างน้อย 15 วัน แต่ถ้าต้องการซีอิ๊วดำต้องหมักทิ้งไว้ถึง 6 เดือน แล้วนำน้ำซีอิ๊วที่ได้ไปต้มจนเดือด จะทำให้น้ำซีอิ๊วเปลี่ยนเป็นสีดำเองโดยธรรมชาติ[24]

  • จี๊ฉ่องฝัน

จี๊ฉ่องฝันเป็นอาหารพื้นเมืองอีกชนิดหนึ่งของชาวเบตง บ้างก็เรียกว่าหมี่ขาว หรือหมี่ถังแตก มีลักษณะคล้าย ๆ เส้นก๋วยเตี๋ยว ทำจากการเอาข้าวเจ้ามาโม่ให้เป็นแป้ง ก่อนจะนำมาผสมกับน้ำให้เหลว แล้วนำไปเข้าเครื่องนึ่งทำแผ่น แต่แผ่นจะมีความบางกว่าแผ่นก๋วยเตี๋ยว เมื่อสุกจนได้ที่ก็จะนำออกมาหั่นเป็นเส้นเล็ก ๆ กว้างไม่เกิน 1 ซม. เรียกว่าหมี่ขาว หรือหมี่ถังแตก จากนั้นนำเส้นหมี่ขาว หรือหมี่ถังแตกที่พร้อมแล้วมาปรุงด้วยซีอิ้วขาวก่อนโรยงาขาว และกระเทียมเจียวลงไป หน้าตาน่าลิ้มลองรับประทานเลยทีเดียว[25]

  • เฉาก๊วยโบราณ

เฉาก๊วย หรือวุ้นดำของเบตง ขึ้นชื่ออยู่ ณ บ้าน กม.4 เพราะเป็นรสชาติของเฉาก๊วยโบราณแท้ ๆ ที่ได้นำเอาหญ้าวุ้นดำจากประเทศจีนมาเป็นส่วนผสมสำคัญ ทำให้เฉาก๊วยมีสีดำขลับ เหนียว และนุ่ม การทำเฉาก๊วยนั้นเริ่มแรก ให้นำหญ้าวุ้นดำมาต้มกับน้ำ แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากน้ำ ซึ่งกลายเป็นสีดำ จากนั้นนำแป้งมันสำปะหลังผสมกับน้ำที่ได้จากการกรอกในขณะที่ยังร้อน แล้วคนให้เข้ากัน และทิ้งไว้จนกว่าจะกลายเป็นวุ้น เวลาจะรับประทานก็ตัดเป็นชิ้นตามขนาดที่ต้องการ นิยมรับประทานกับน้ำเชื่อม และอาจเติมสีสันของน้ำกลิ่นสละ แล้วเติมน้ำแข็ง รสชาติอร่อยชื่นใจทีเดียว แถมยังมีสรรพคุณด้านการแก้ร้อนในได้อีกด้วย อีกทั้งยังสามารถเป็นของฝากที่ถูกใจผู้รับอีกต่างหาก[26]

  • ส้มโชกุน

ส้มโชกุน จัดได้ว่าเป็นส้มที่รวบรวมเอาคุณสมบัติเด่นหลากหลายมารวมไว้ด้วยกัน เช่น มีกลิ่นหอม รสหวานอมเปรี้ยว ชานนิ่มและไม่ขม เปลือกบาง ซึ่งหากนำมาคั้นจะให้น้ำมากกว่าส้มทั่วไป มีลักษณะคล้ายส้มเขียวหวาน การเจริญเติบโตก็คล้าย ๆ กับส้มเขียวหวาน เหตุเพราะว่าเป็นส้มที่ผสมผสานพันธุ์โดยธรรมชาติ ระหว่างส้มเขียวหวาน และส้มแมนดารินจากประเทศจีน และกว่าจะมาเป็นผลส้มที่พรั่งพร้อมด้วยคุณลักษณะดังกล่าว ต้องผ่านการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการหมั่นใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง การป้องกันโรค และการป้องกันแมลงต่าง ๆ ด้วย และถึงแม้ขณะนี้ส้มเบตงจะมีการเพาะปลูกในทุกภาคของประเทศไทย แต่หากท่านต้องการลิ้มลองรสชาติแท้แท้ของส้มโชกุนพื้นเมืองล่ะก็ ท่านต้องมายังที่เบตงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น[27]

  • ข้าวหลาม

ข้าวหลาม หรือปูโละลือแมของเบตง มีลักษณะพิเศษคือมีเนื้อเหนี่ยว หวานมัน เหมาะสำหรับรับประทานกับกาแฟ และรับประทานกับแกงมัสมั่น ชาวเบตงนิยมทำข้าวหลามกันมากช่วงเทศกาลวันฮารีรายอ หรือวันตรุษของอิสลาม สำหรับกรรมวิธีที่จะทำให้เนื้อข้าวหลามเหนียว หวาน และนิ่ม เริ่มจากการตัดกระบอกไม้ไผ่ที่ไม่แก่และอ่อนเกินไป พร้อมตัดใบตองยาวเท่ากับกระบอกข้าวหลาม แล้วใช้ไม้ม้วนใบตอง ใส่เข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ จากนั้นกรอกข้าวเหนียวที่ล้างแล้วเทลงในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ แล้วกรอกน้ำกะทิซึ่งผสมน้ำตาล เกลือ พอได้รสชาติหวานมัน จากนั้นนำไปย่างไฟที่ไม่แรงมากนักจนข้าวหลามสุก ก็จะได้ข้าวหลามรสชาติเยี่ยม[28]

  • กาแฟโบราณ

กาแฟโบราณของเบตง เป็นกาแฟพันธุ์พื้นเมือง น่าจะกลายพันธุ์มาจากพันธุ์ใดพันธุ์โรบัสต้า ปลูกตั้งแต่ยุคอนานิคมอังกฤษมีอิทธิพลในแหลมมลายู ซึ่งกาแฟนี้ชาวเบตงนิยมปลูกแซมตามสวนยาง ต่อมากลุ่มแม่บ้านชุมชนกาแป๊ะฮูลู กลุ่มแม่บ้านชุมชนกาแป๊ะกอตอใน และกลุ่มแม่บ้านมาลา ได้ผลิตกาแฟผงจำหน่าย โดยนำเมล็ดที่ปลูกไว้มาคั่วและบดเอง ซึ่งแต่ละสูตรต่างมีรสชาติที่หอมกรุ่นน่าลิ้มลองจน ณ วันนี้ กาแฟเบตงได้กลายเป็นอีกหนึ่งของฝากสำคัญจากเบตง โดยมีถึง 3 ตรา คือ กาแฟโบราณ กาแฟวังเก่า และกาแฟโบราณเบตง และ 1 ใน 3 นี้ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว[29]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอเบตง http://www.amphoe.com/menu.php http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/784320 http://www.betongimmigration-checkpoint.com/th/foo... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o... http://www.betongtown.com/municipality/index.php?o...